‘พลังงาน’แจงยิบอีกรอบรับซื้อไฟหมุนเวียน 5.2 พันเมก ไม่ทำค่าไฟแพง

2025-04-22     HaiPress

'พลังงาน' แจงยิบอีกรอบ รับซื้อไฟหมุนเวียน 5.2 พันเมก ไม่ทำค่าไฟแพง บอกกลับช่วยลดค่าไฟด้วย

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงในประเด็นที่มีกระแสข่าวและความกังวลเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ (MW) ว่าอาจทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นและสร้างภาระงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักแสนล้านบาท ดังนี้:

1.การยกเลิกการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW

นายวัฒนพงษ์ ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณ 5,203 เมกะวัตต์ RE Big Lot เป็นการดำเนินการจากมติ กพช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ครบถ้วนไปก่อนแล้ว ปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วเป็นส่วนใหญ่ และบางโครงการได้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว การยกเลิกสัญญาของ RE Big Lot ที่ลงนามไปแล้วจึงไม่อาจจะทำได้ และหากจะมีการยกเลิกโครงการที่ไม่ลงนามในสัญญาส่วนที่เหลือกว่าสิบสัญญา จะทำให้เกิดข้อขัดแย้งกับสัญญาที่ลงนามไปแล้ว และเป็นการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานระหว่างกลุ่มโครงการที่ได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว และโครงการที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา

2.การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,200 MW จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงหรือไม่?

นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot มีต้นทุนรับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 2.7 บาทต่อหน่วย (พลังงานแสงอาทิตย์มีอัตรา 2.18 บาทต่อหน่วย พลังงานลมมีอัตรา 3.10 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ BESS (ระบบเดินไฟในแบตเตอรี่) มีอัตรา 2.83 บาทต่อหน่วย) ซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย (Grid Parity) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดย ณ เดือนมีนาคม 2568 มีค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยประมาณ 3.18 บาทต่อหน่วย ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะไม่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น

แต่ในทางตรงกันข้ามการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot จะทำให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลง เนื่องจากมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำกว่าค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ย โดยการรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยลดลงประมาณ 4,574 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจาก RE Big Lot จะช่วยให้ประเทศไม่เสียโอกาสในการลงทุนในพัฒนาพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่มีอัตรารับซื้อในระดับที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในภาพรวม และช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาค่าไฟฟ้าของประเทศได้ในระยะ

3.สนับสนุนเป้าหมายลดคาร์บอน และตอบโจทย์อนาคตพลังงานสะอาดของประเทศ

นายวัฒนพงษ์ เน้นว่าการรับซื้อไฟฟ้า RE Big Lot เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า และจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ร้อยละ 30-40 ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)

อีกทั้งการเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศด้วยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา