12-25
โรดแม็พไทย 3 ปีขึ้น ‘ฮับโกโก้อาเซียน’ เชื่อมท่องเที่ยว-ซอฟต์พาวเวอร์
2024-12-11 HaiPress
“โกโก้” กำลังเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูง นำไปแปรรูปได้หลายผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มที่มีโปรตีนสูง เครื่องสำอาง กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมเร่งเดินหน้าประเทศไทยสู่ฮับโกโก้อาเซียน ตั้งเป้าแผน 3 ปี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 8,000 ล้าน เชื่อมโยงซอฟต์พาวเวอร์-ท่องเที่ยว
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการสร้างรายได้และเป็นการกระจายมูลค่าเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะ “เกษตรอุตสาหกรรม” ซึ่งเกษตรกรไทยมีศักยภาพและมีการเพาะปลูกในทุกภูมิภาค มุ่งสนับสนุนทั้งพืชเศรษฐกิจเดิม และพืชเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โกโก้ ที่สามารถสร้างมูลค่าตั้งแต่ผลสด เมล็ดแห้ง และการแปรรูปเป็นสินค้าสร้างสรรค์อีก
ทั้งยังพบว่าตั้งแต่โกโก้เริ่มได้รับความนิยมในไทย ยังเป็นแรงจูงใจในหลายด้าน เช่น โมเดลธุรกิจคาเฟ่ ท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่ที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการเกษตร รวมถึงการจ้างงานในชุมชนที่มากขึ้น ทั้งนี้ ใน 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยมีผลผลิตโกโก้รวมทั้งหมด 1,016.78 ตัน พบการตื่นตัวของผู้ประกอบการที่เริ่มหันมาสนใจนำทุกส่วนจากโกโก้ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงหลายรูปแบบ เช่น เครื่องสำอาง น้ำสกัดโกโก้ ฯลฯ
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้เป้าหมายการผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำในแหล่งผลิตและตลาดผลไม้เมืองร้อนที่มีคุณภาพ กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมโกโก้ในอาเซียน ด้วยเล็งเห็นความนิยมและแนวโน้มการเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีมูลค่าสูงจากจุดแข็งของไทยที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม เป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้คือ การผลักดันให้พันธุ์ต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาและปลูกในแต่ละภูมิภาคก้าวสู่การเป็นสินค้า GI เพื่อตอกย้ำการเป็นแบรนด์ของท้องถิ่น ที่บ่งบอกถึงคุณภาพ แหล่งที่มาของสินค้า และโอกาสเพิ่มมูลค่าของโกโก้ในรูปแบบของสินค้าและบริการ
รวมถึงพัฒนาให้มีความโดดเด่นในเชิงคุณภาพ อัตลักษณ์ทางรสชาติ และหลีกเลี่ยงการแข่งขันในเชิงปริมาณ ดังเช่นที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จมาแล้วกับอุตสาหกรรมกาแฟ รวมถึงการพัฒนาสารสกัดจากโกโก้ไทยที่เป็นทั้งสารสกัดจากกลิ่น รสชาติ และคุณประโยชน์ซึ่งสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าใหม่ที่เหนือไปกว่ารูปแบบของเดิม โดยได้มอบนโยบายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) สนับสนุนโกโก้ในเชิงรุกผ่านการเข้าไปให้ความรู้ การนำเครื่องจักร เทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการ รวมถึงในด้านการพัฒนามาตรฐานทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโกโก้โดยตรง ตลอดจนการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) วางแผนการส่งเสริมโกโก้ในระยะ 3 ปี (2567–2569) โดยวางเป้าเพิ่มจำนวนผลผลิตภาคเหนือเพิ่มขึ้น 240 ตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น 57 ตัน ภาคใต้เพิ่มขึ้น 113 ตัน ภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 682 ตัน และภาคกลางเพิ่มขึ้น 5 ตัน คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท ด้วยมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย
1. พัฒนาบุคลากรภาคการเกษตร ผ่านการเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดโกโก้ ตั้งแต่ในขั้นตอนการแปรรูปเพื่อให้ตรงความต้องการของตลาด เทคนิคการคัดเลือกเมล็ดโกโก้ เทคนิคการหมัก การรวมกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อการทำธุรกิจร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำ–ปลายน้ำ
2. พัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ซึ่งจะพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์พร้อมนำเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรงสำหรับเกษตรแปรรูปมาประยุกต์ใช้กับผู้ประกอบการ เช่น เครื่องคั่วเมล็ดโกโก้อัจฉริยะด้วยระบบ AI เครื่องบีบสกัดไขมันเนยโกโก้ ฯลฯ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์และสินค้าสร้างสรรค์
3. พัฒนาปัจจัยเอื้อ ด้วยการยกระดับมาตรฐานเมล็ดโกโก้ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เทียบเท่าสากล ส่วนในปี 68–69 จะเน้นการผลักดันเข้าสู่โมเดิร์นเทรดให้มากขึ้น
นอกเหนือไปจากเกษตรอุตสาหกรรม โกโก้ยังมีความสำคัญในมิติซอฟต์พาวเวอร์ในด้านอาหาร ที่สามารถพัฒนาได้ทั้งสินค้าสร้างสรรค์ รูปแบบของอาหารใหม่ ๆ
ดีพร้อมได้กำหนดให้จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ต้นแบบการปลูกโกโก้ทั่วประเทศภายใต้แนวคิด “น่านโมเดล” โดยมุ่งหวังสร้างความนิยมการปลูกพันธุ์โกโก้น่าน 133 ที่เป็นสินค้า GI โดยการเพิ่มจำนวนพื้นที่เพาะปลูกและจำนวนผู้ประกอบการ สร้างต้นแบบธุรกิจ หรือดีพร้อมฮีโร่ขึ้น โดยมีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ คือโกโก้วัลเลย์ ต้นแบบธุรกิจโกโก้ครบวงจรของน่านที่มีศักยภาพตั้งแต่การปลูก แปรรูปจนถึงการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง จากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่พร้อมเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลก โดยทุกวันนี้โกโก้วัลเลย์ ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของจังหวัดน่าน
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบโกโก้และช็อกโกแลต และขณะเดียวกันธุรกิจนี้ยังได้ส่งต่อความรู้การปลูกโกโก้ให้กับเกษตรกรในชุมชน สร้างรายได้ และผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนโดยรอบมากกว่า 300 ชุมชน เช่น กลุ่มขายผลสดโกโก้ กลุ่มชนเผ่า กลุ่มย้อมผ้า ทำให้คนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกโกโก้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และสปา เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ได้สอดรับกับความต้องการตลาด เช่น เครื่องสำอาง เครื่องดื่มสำเร็จรูป คราฟท์ช็อกโกแลต