12-25
เจาะเบื้องลึกโจมตี ‘ผู้บริหารกลุ่มปตท.’ จงใจใส่ร้าย หวังเบี่ยงประเด็น!
2024-11-29 HaiPress
เจาะเบื้องหลังกระแสโจมตี “ผู้บริหารกลุ่ม ปตท.” หวังยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว ทั้งการโจมตี-การสร้างประโยชน์จากราคาหุ้น เผยชิงเล่นเกมนี้ เหตุผวาคดีฉ้อโกงที่เกิดเป็นดอกเห็ด เมื่อถูกออกหมายจับ หวั่นไม่ได้ประกันตัวแบบสารพัดเคส ดิไอคอน-ทนายตั้ม-กลุ่มหมอบุญ อาศัยจังหวะนี้มุ่งโจมตีดิสเครดิต หวังเบี่ยงเบนประเด็น
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จทางโลกออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นที่แอบอ้างว่า “DSI สรุปสำนวน เชื่อว่าผู้ว่า ปตท. และ CEO OR เข้าข่ายทุจริต ผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ,ฟอกเงิน และฉ้อโกงประชาชน” ซึ่งเนื้อหาของข่าวดังกล่าว เป็นการระบุแบบคลุมเครือ สร้างความเข้าใจผิดให้กับบุคคลทั่วไปที่รับข่าวสารทางโลกสังคมออนไลน์ แม้ในเวลาต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่ภาพ-ข่าว ที่เป็นเท็จดังกล่าวออกมา ประกอบกับ บมจ.ปตท.-บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ได้มีหนังสือชี้แจงไปยังเลขาธิการคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่ออธิบายถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการสอบถามไปยังทีมสอบสวนที่เคยทำคดีน้ำมันปาล์มล่องหน มูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งคดีมีความคืบหน้าเตรียมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ปรากฏว่า ดีเอสไอขอนำคดีดังกล่าวไปทำเป็นคดีพิเศษ ที่จะต้องไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่นั้น ได้มีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า การปล่อยภาพ-เนื้อหาโดยอ้างอิง “ดีเอสไอ” เชื่อว่า ผู้ว่า ปตท. และซีอีโอโออาร์ เข้าข่ายทุจริตนั้น เนื้อหาที่ปรากฏทางสังคมออนไลน์นั้น เป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย ไม่ระบุชื่อตัวบุคคลที่ชัดเจน อ้างแต่เพียงตำแหน่ง แล้วทำภาพกราฟิก โดยใส่รูปของบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน เพื่อต้องการให้เกิดความเข้าใจผิดแก่บุคคลทั่วไป
ข้อสังเกตต่อไปคือ ก่อนหน้านี้ กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าวเท็จนี้ มีความพยายามติดต่อไปยังสื่อหลัก-สื่อออนไลน์หลายสำนักที่คุ้นเคยกันในอดีต เพื่อต้องการให้เผยแพร่ข้อความ-ภาพอันเป็นเท็จนี้ แต่ปรากฏว่า ทั้งสื่อหลัก-สื่อออนไลน์ได้มีตรวจสอบเนื้อหาแล้วพบว่า เป็นข้อมูลที่บิดเบือน จงใจใส่ร้าย และคดีที่กล่าวอ้าง ยังอยู่ในชั้นการสืบสวน-สอบสวน ดีเอสไอยังไม่ได้สรุปสำนวนและแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ทำให้กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังหันไปใช้ “บัญชีอวตาร” 3 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีปลอมที่ไม่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้ได้ แต่กลุ่มบุคคลฯ เหล่านี้ ต้องการเพียงแค่การเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ที่หวังให้คนที่รับข้อมูลส่งต่อหรือกดไลกก์ แล้วนำไปขยายผลต่อ เพื่อสร้างผลกระทบให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหา
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ทีมสอบสวนที่เคยทำคดีน้ำมันปาล์มล่องหน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกี่ยวพันกับการสร้างผลกระทบต่อราคาหุ้นของกลุ่ม ปตท. ไม่ว่าจะเป็น PTT,PTTGC,OR และ GGC หรือไม่ เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าวปลอม-ข่าวเท็จนี้ ได้แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อหวังผลบางประการในคดีที่ยังค้างอยู่ในขั้นตอนการสืบสวน-สอบสวน จึงจะได้มีการประสานไปยังผู้บริหารกลุ่ม ปตท. เพื่อขอให้ช่วยกันเฝ้าสังเกตและตรวจสอบการซื้อ-ขายหุ้นในกลุ่ม ปตท. ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ อย่างไร
โดยเหตุผลสำคัญที่สุดของกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าวเท็จในครั้งนี้ ต่างวิตกกังวลว่า คดีฉ้อโกงในระยะหลังนี้ เมื่อถูกออกหมายจับแล้ว ศาลมักจะไม่ให้ประกันตัว ไล่เรียงมาตั้งแต่ คดีหลอกขายทองของแม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์,คดีแชร์ลูกโซ่ของ ดิ ไอคอน กรุ๊ป (ที่เกี่ยวพันกับบรรดาบอสหลายๆ คน),คดีฉ้อโกงของทนายตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด,คดีฉ้อโกงประชาชนของ นพ.บุญ วนาสิน ฯลฯ ซึ่งคดีเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงและอาจโยงใยไปถึงการฟอกเงินอีกด้วย และผู้ที่ถูกกล่าวหาออกหมายจับ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จะไม่ได้รับการประกันตัว เพราะเกรงว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยาน ทำให้กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าวเท็จ สร้างความเสียหายให้กับผู้บริหารกลุ่ม ปตท. ในปัจจุบัน เกรงว่า หากคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับพวกตนเอง นำไปสู่ขั้นตอนการขอออกหมายจับ แล้วคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับประกันตัว ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ระหว่างการรอการพิสูจน์ในชั้นศาล จึงทำให้ต้องอาศัยจังหวะนี้ กลบเกลื่อนร่องรอย และเบี่ยงเบนประเด็น ชิงกล่าวหาผู้บริหารกลุ่ม ปตท. ให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว เพราะได้ทั้งการกล่าวหาผู้บริหารกลุ่ม ปตท. และได้ประโยชน์ในทางที่ไม่เหมาะสมกับราคาหุ้นในกลุ่ม ปตท. อีกด้วย