11-23
‘จิราพร’ สั่งฟื้นความเชื่อมั่นสคบ. ‘บวรศักดิ์’ ถกถอนใบอนุญาต บ.ดิไอคอน กรุ๊ป
2024-11-21 HaiPress
‘จิราพร’ สั่งฟื้นความเชื่อมั่น สคบ. ‘บวรศักดิ์’ ถกถอนใบอนุญาต บ.ดิไอคอน กรุ๊ป ตามที่ สคบ. ส่งหนังสือสอบถามเย็นนี้ (20 พ.ย.) พร้อมเชิญ บก.ปคบ.-ดีเอสไอ-สศค.-ปปง.-สคบ. เพื่อหาแนวทางป้องกันและปราบการธุรกิจแชร์ลูกโซ่ 21 พ.ย.
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ว่า ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ และเกี่ยวเนื่องกับ สคบ. จากกรณีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จนทำให้ภาพลักษณ์ของ สคบ. ต่อประชาชนสั่นคลอน ดังนั้นภารกิจของตนจะต้องฟื้นฟู สคบ. และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ในฐานะเป็นหน่วยงานภาครัฐในการเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยเฉพาะผู้บริโภค รวมถึงกรณีพาดพิงมาที่ สคบ. ต้องแก้ไขในสิ่งที่เป็นปัญหา แต่ข้าราชการที่เป็นน้ำดีนั้นยังมีอยู่ ก็จะต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และส่วนที่เป็นปัญหา ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง ทั้งกรณีคลิปเสียง รวมถึงให้ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาระยะยาว เช่น ประเด็นข้อจำกัดทางกฎหมาย และการทำงาน อย่างไรก็ตาม หาก สคบ. คณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีประสบการณ์ มีข้อเสนอแนะ อยากให้ สคบ. ปรับปรุงการทำงาน หรือยกระดับการทำงานในอนาคต
น.ส.ทรงศิริ จุมพล รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผุ้บริโภค (สคบ.) ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ สคบ. เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 16.00 น. ของวันที่ 20 พ.ย. 2567 องค์คณะของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง สำนักงานกฤษฎีกา โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน จะมีการหรือถึงหนังสือสอบถามข้อกฎหมายกรณีเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ว่าจะสามารถใช้อำนาจทางปกครองถอดถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้หรือไม่ หรือมีลักษณะขัดต่อกฎหมายมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ซึ่งห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องรอฟังผลต่อไป
ขณะเดียวกันในวันที่ 21 พ.ย. 2567 รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ บก.ปคบ. กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และ สคบ. เพื่อหารือแนวทางป้องกันและปราบการธุรกิจแชร์ลูกโซ่
ส่วนกรณีที่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ สั่งการให้ สคบ. ไปตรวจสอบ 10 บริษัท ที่เข้าข่ายลักษณะแชร์ลูกโซ่ สคบ. ได้เชิญมาตรวจพฤติการณ์ พร้อมชี้แจงเบื้องต้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเชิงลึกต่อไป