ซอฟต์พาวเวอร์ยกระดับชีวิต 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย

2024-11-11     HaiPress

"เชฟชุมพล แจ้งไพร" ชู 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ยกระดับชีวิต

“อุตสาหกรรมอาหารไทยเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงโรงงานที่มีเงินลงทุนระดับแสนล้านบาท สิ่งที่ต้องมอง คือ การขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และจะสามารถนำไปเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่นได้อย่างไร ทุกอุตสาหกรรมต้องมีเรื่องอาหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นการพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ จะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องนำหน่วยงานต่าง ๆ มาเชื่อมต่อการทำงานด้วยกัน”

หนึ่งในความห่วงใยของ “เชฟ ชุมพล แจ้งไพร” ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่กล่าวไว้ในงานเดลินิวส์ ทอล์ก ในหัวข้อ Soft Power : โอกาสประเทศไทย จัดโดย “เดลินิวส์” เมื่อเร็วๆ นี้

“เชฟชุมพล” ได้นำเสนอมุมมอง โดยระบุว่า เสน่ห์ของอาหารไทยมีมานานมากกว่า 50 ปีแล้ว เราไม่ต้องทำอะไร ต่างชาติก็รักอาหารไทยแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ ทำอย่างไรให้ยั่งยืนและสิ่งที่ดีแล้ว ต่อยอดอย่างไร อย่างที่สอง คือ อุตสาหกรรมอาหารไทยมีมูลค่าสูงถึง 4-5 แสนล้านบาท เราจะทำอย่างไรให้มีผลดีลงไปถึงหมู่บ้านต่าง ๆ ด้วยอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างไร ซึ่งจากการสำรวจคนไทยอาจไม่ได้ชอบอาหารไทยอันดับ 1 แต่กลายเป็นคนต่างชาติที่กลับชอบอาหารไทยเป็นอันดับ 1

ต้องยอมรับว่าในบางครั้งของที่อยู่ใกล้ตัวเรา แต่เรากลับไม่เห็นคุณค่า ซึ่งวัตถุดิบ เช่น ตะไคร้ ขายในไทยกิโลละ 10 บาท แต่วางขายในลอนดอนราคากลับสูงถึง 12 ปอนด์ จึงต้องมองว่า…ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร เราจะต่อยอดและส่งเสริมอย่างไร และในอุตสาหกรรมนี้ยังขาดอะไรบ้าง แต่!! สิ่งสำคัญที่สุด ต้องมองว่าเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ จะทำอย่างให้คนไทยในระดับชุมชนได้ประโยชน์จากเรื่องนี้

เชฟชุมพล ขยายความให้เห็นอีกว่า อุตสาหกรรมอาหารไทยเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงโรงงานที่มีเงินลงทุนระดับแสนล้านบาท สิ่งที่ต้องมอง คือ การขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และจะสามารถนำไปเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมอื่นได้อย่างไร ทุกอุตสาหกรรมต้องมีเรื่องอาหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นการพัฒนาในอุตสาหกรรมนี้ จะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องนำหน่วยงานต่าง ๆ มาเชื่อมต่อการทำงานด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้ประโยชน์ตรงนี้ลงไปถึงคนไทยทุกระดับ เมื่อคนไทยได้ประโยชน์ ประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย จึงถือเป็นการบริหารเสน่ห์ของอาหารไทย

“ทุกวันนี้อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับหลายส่วน อย่างแรก…ที่ต้องเร่งทำ คือ การทุ่มเทเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แม้ในปัจจุบัน เอไอ สามารถใช้ทำอะไรได้ทุกอย่างก็ตาม แต่เชื่อได้เลยว่าเอไอทำอาหารสู้คนไม่ได้แน่นอน เพราะคนเราต่างมีแพชชั่น โดยอุตสาหกรรมอาหารในวันนี้ คนที่ทำธุรกิจอาหารทั่วโลก จะมีปัญหาเรื่องแมนเพาเวอร์ ที่มีคุณภาพ”

ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านนี้ จึงได้ทำยุทธศาสตร์โดยได้ของบประมาณเพื่อให้เกิดโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ซึ่งเป็นเรื่องต้นน้ำในการพัฒนาคน แล้วสามารถต่อยอดจากเชฟ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือกลายเป็นดาราที่มีชื่อเสียงได้ ยุคนี้ไม่ได้วัดกันด้วยใบประกาศกันอีกต่อไปแล้ว แต่วัดกันที่ฝีมือหรือทักษะ ซึ่งในปีแรก ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 18,000 คน เป็นเวลา 4 ปี จะมีเชฟอาหารไทยรวมเป็น 87,900 คน ในทุกหมู่บ้านและทุกชุมชน

“เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เราใช้อาหารไทยในการโปรโมตการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการพัฒนาตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะบุคลากรเหล่านี้ นอกจากทำอาหารเป็นแล้ว แล้วต้องทำหน้าที่เป็นเซล ขายวัฒนธรรม ขายท่องเที่ยว ขายโปรดักต์ด้วย นอกจากนี้ ด้านการเกษตรก็ต้องพัฒนา ทุกวันนี้ต่างประเทศมีการปลูกพืชผักของไทย เช่น ใบกะเพรา แต่ยังดีไม่เท่าไทย ซึ่งในยุทธศาสตร์นี้ได้จับมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยว่าจะทำโปรดักต์ออกมาอย่างไร”

เชฟชุมพล บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยบริหารงานอาหารไทยชื่อดัง ที่มี 4 สาขา ที่ต้องทำสูตรเดียวกัน เรื่องคุณภาพ วัตถุดิบ รสชาติ ต้องเท่ากันทั้งหมด ดังนั้นเรื่องของการพัฒนาคนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คนจบการศึกษาในระดับ ปวช. มาทำงานเป็นเชฟ ปรากฏว่า มีเงินเดือน มีรายได้สูงกว่าคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโท ด้วยซ้ำ ทุกวันนี้…เชฟที่ฝีมือดี ได้รับเงินเดือนถึง 6 หลักทีเดียว

ดังนั้น…จึงต้องพยายามสร้างเชฟ โดยพัฒนาคนเป็นอันดับแรก เพื่อให้สามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมอาหารให้ได้มาก ๆ ทำให้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก เหมือนกับการฝึกอบรมเชฟที่อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย ล่าสุดได้ร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษา 100 แห่ง และมหาวิทยาลัย 100 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนาคนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ประเทศไทยได้ก้าวต่อไป ในซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร

“อาชีพเชฟทุกวันนี้เงินเดือน 6 หลัก ในอดีตกว่าจะได้ขึ้นตำแหน่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ปัจจุบันเหลือ 3 ปี มีการซื้อตัวเชฟ เหมือนนักฟุตบอล ซึ่งลูกศิษย์ของตนเองรุ่นแรก เวลานี้เป็นเชฟอยู่ที่แคนาดา ได้เงินเดือน 1.6 แสนบาท หลังหักภาษีแล้ว จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า การสร้างคนแล้วเอาคนไปสร้างอีโคซิสเต็มต่อ ถ้าเราไม่สร้างคน การขยายไปเป็นเรื่องลำบาก และคนไทยทำอาหารไทยได้ดีที่สุด แต่ถ้าหากคนไทยไม่เห็นความสำคัญ คนที่จะทำอาหารไทยแซงคนไทย คือคนญี่ปุ่น เพราะวันนี้เชฟอาหารญี่ปุ่น เป็นคนที่ได้รับมิชลินสตาร์มากที่สุดในโลก”

สุดท้ายแล้ว มองว่า บุคลากรในวงการอาหาร จะเป็นตัวเชื่อมกับทุกๆ อุตสาหกรรม ซึ่งในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ด้านอุตสาหกรรมอาหารจึงอยากฝากด้านพัฒนาบุคลากร ส่วนในระดับกลางน้ำก็ต้องมีการพัฒนาโปรดักต์ และนวัตกรรม ก่อนต่อยอดไปถึงปลายน้ำ ที่จะทำให้มูลค่าของอุตสาหรรมอาหารสามารถลงไปถึงทุกชุมชนและช่วยยกระดับชีวิตของทุกคนได้.

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา