12-25
คนเอเชีย-แปซิฟิก 80 ล้านคน ยากจนพิเศษ 22% ไม่เข้าถึงการศึกษา แนะใช้นวัตกรรมการเงินเป็นตัวช่วย
2024-11-01 HaiPress
กสศ. ยูเนสโก เผย คนเอเชีย-แปซิฟิก 80 ล้านคนอยู่ในฐานะยากจนพิเศษ 22% ไม่เข้าถึงการศึกษา แนะใช้นวัตกรรมการเงินเป็นตัวช่วย
รายงานข่าวจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยูเนสโก เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่3 ขึ้นภายใต้หัวข้อ “จินตภาพใหม่การศึกษา ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน” เพื่อมุ่งสร้างการเข้าถึงการศึกษาอย่างยั่งยืน และความเสมอภาคทางการศึกษา
ทั้งนี้ ได้พบว่าในเรื่องการศึกษาจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาค เพื่อกุญแจสำคัญในการสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีความท้าทายด้านแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเกือบ 80 ล้านคนอยู่ในภาวะยากจนพิเศษ ร้อยละ 66 ประกอบอาชีพนอกระบบ (แรงงานนอกระบบ) 22% ของเยาวชนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม และยังมีหลายล้านคนที่ยังคงเป็นแรงงานเด็ก การเปลี่ยนแปลงจากทั่วโลก ด้านเทคโนโลยี ด้านประชากร และด้านสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดความต้องการทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา
ขณะเดียวกันความร่วมมือข้ามภาคส่วนเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเงินและการลงทุนในภาคการศึกษา และเน้นถึงความจำเป็นในการให้ส่งต่อข้อมูลแก่สาธารณชนและนักลงทุนเกี่ยวกับบทบาทของการเงินนวัตกรรมในระบบการศึกษา ซึ่งจะทำให้เห็นถึงคุณค่าของการลงทุนต่อสังคม และการเปิดรับผู้เล่นใหม่ในตลาดและเชิญชวนองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเข้ามาร่วมลงทุน โมเดลการเงินนวัตกรรมจะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ จะช่วยขยายขอบเขตของโครงการด้านการศึกษาได้
อีกทั้ง การกระจายอำนาจในการศึกษาเป็นหนึ่งในความสำคัญสู่การสร้างความเสมอภาคและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น การมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ตัวอย่าง เช่น โครงการของมูลนิธิ Pratham ในประเทศอินเดีย ซึ่งมุ่งเน้นให้มารดามีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ทั้งนี้ได้ส่งผลให้การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืน โครงการนี้ครอบคลุมกว่า 18 รัฐ ส่งผลกระทบเชิงบวกแก่เด็ก 1.92 ล้านคน ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของการพัฒนาการศึกษาโดยชุมชนที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น
การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบการศึกษาที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีข้อสรุปสำคัญคือ
1. การเข้าถึงการศึกษาคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องมอบโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับทุกคนไม่ว่าจะมีพื้นฐานหรือความท้าทายใด ๆ
2. หลักสูตรการศึกษาควรสอดคล้องกับการนำไปใช้ในชีวิตจริงและเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับอาชีพในอนาคต
3. เพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพครู เครื่องมือ และทรัพยากร
4. การกระจายอำนาจเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น
5. รัฐบาลควรเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงช่องว่างของนโยบายเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
6. การร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนภายในปี 2573