12-25
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตั้ง ‘ณัฐ วงศ์พานิช’ นั่งประธานคนใหม่
2024-10-15 HaiPress
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตั้ง ‘ณัฐ วงศ์พานิช’ นั่งประธานคนใหม่ เสริมแกร่งอุตฯค้าปลีกไทย
รายงานข่าวจาก สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการลงคะแนนการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ เพื่อดำรงตำแหน่งและดำเนินงานในปี 2567-2569 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 และมีการเสนอชื่อและแต่งตั้งให้ นายณัฐ วงศ์พานิช ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นับเป็นประธานคนที่ 12 ที่ได้รับความไว้วางใจจากกรรมการบริหารและสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อร่วมกัน สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมค้าปลีกซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย โดยมีมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้ (ปี 2567-2569) นายณัฐ วงศ์พานิช จะดำเนินนโยบายร่วมกับกรรมการบริหาร และสมาชิก รวมไปถึงภาคีเครือข่ายสมาคมฯ โดยการวางรากฐานและเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมภาคค้าปลีกไทยผ่าน นโยบายการดำเนินงาน “TRAGREAT” ดังนี้
1. G – Global Hub Of Lifestyle: สนับสนุนการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและระดับโลกด้านการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล การช้อปปิ้ง กีฬา กิจกรรมบันเทิง และการต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์และการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ
1.1 สนับสนุนและต่อยอดการเป็น “ไลฟ์สไตล์ฮับแห่งเอเชีย” (Lifestyle Hub of Asia) ทั้งทางด้านการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ,ช้อปปิ้ง,กีฬา และธรรมชาติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยการปักหมุดในการเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกในด้าน “Shopping Paradise” หรือ “สวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง” ที่จะช่วยสร้างเม็ดเงินไหลเวียนทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล อาทิ การสนับสนุนการลดภาษีสินค้านำเข้าไลฟ์สไตล์หรู เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยต่อคนเพิ่มขึ้น ช่วยลดช่องว่างการเกิดเกรย์มาร์เก็ต (grey market) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการจัดเก็บภาษีของภาครัฐได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
1.2 สนับสนุนการสร้างและต่อยอด Thailand Soft Power อาทิ วัฒนธรรม อาหาร ภาพยนตร์ และอื่นๆ ด้วยความร่วมมือผ่านภาคีเครือข่ายสมาคมฯ
2. R – Reinforce Retailer Competitiveness :สร้างความแข็งแรงและความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกไทย
2.1 สนับสนุนช่องทางจำหน่ายให้กับสินค้าของกลุ่ม SME โดยเฉพาะวิสาหกิจรายย่อย (Micro SME) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และ สินค้าท้องถิ่น สินค้าชุมชน เพื่อสร้างช่องทางการตลาดและโอกาสในการจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีแผนคิกออฟการเปิดพื้นที่ออกร้านจำหน่ายสินค้า SME สัญจรไปทั่วประเทศ ณ ศูนย์การค้าและห้างร้านที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ภายในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป
2.2 สนับสนุนและลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ (Ease Of Doing Business) เช่น ส่งเสริมให้ Micro SME หันมาใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transaction) เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย,การปรับโครงสร้างภาษีของภาครัฐให้เข้ากับบริบทการค้าปัจุบันเพื่อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น
2.3 สนับสนุนและสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี โดยร่วมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อเป็นฐานข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด พร้อมทั้งเร่งจัดหากองทุนสินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำด้วยเงื่อนไขที่ไม่ซ้ำซ้อนและเข้าถึงได้ง่าย
3. E – Elevate Human Capital :สร้างอุปสงค์อุปทานด้านแรงงานและพัฒนาความสามารถของแรงงานธุรกิจค้าปลีกในทุกระดับ
3.1 สนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ
3.2 พัฒนาฝีมือแรงงาน (Upskill,Reskill) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในธุรกิจค้าปลีก
3.3 สนับสนุนการใช้หลักเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพมากำหนดอัตราค่าจ้างแทนค่าแรงขั้นต่ำ
4. A – Accelerate Action On Environment And Sustainability : เร่งสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ภาคปฏิบัติ
4.1 ส่งเสริมให้ ภาคค้าปลีกมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว ตั้งแต่การพัฒนา การปรับปรุงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขานรับนโยบายภาครัฐในด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสถานประกอบการที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
4.2 ยกระดับเรื่อง สุขอนามัยและมาตรฐานความปลอดภัยในด้านอาหาร (Food Safety & Food Hygiene) การจัดการอาหารส่วนเกิน และการจัดการขยะของเสียอย่างครบวงจร อาทิ การเข้าร่วมโครงการยกระดับและพัฒนางานสุขาภิบาลอาหาร ผ่านสัญลักษณ์ อาหารสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ป้ายแซน (SAN) หรือ แซนพลัส (SAN plus) ของกรมอนามัย และ การขับเคลื่อนเรื่อง Waste Management ในห้างร้านของสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรม
4.3 รณรงค์ให้ความรู้มาตรการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้พลังงาน ของสมาชิกครบ 100% ภายใน 4 ปี (2567-2571) รวมทั้งส่งเสริมการลดคาร์บอน เช่น การขยายช่องทางซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านแอปพลิเคชัน CERO Carbon Wallet ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นต้น
5. T – Technology Adoption : สนับสนุนการใช้ เทคโนโลยีในธุรกิจค้าปลีกเพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Retail ผ่านการอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกและผู้ประกอบการรายย่อยอย่างต่อเนื่อง
5.1 สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
5.2 ส่งเสริมมาตรการด้านการลงทุนเทคโนโลยีค้าปลีกและผลประโยชน์ด้านลดหย่อนภาษี
5.3 ยกระดับธุรกิจค้าปลีกภูมิภาคให้มีความเข้าใจ เข้าถึง และรู้เท่าทันนวัตกรรมและเทคโนโลยี
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเชื่อว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศที่เชื่อมโยงระบบนิเวศธุรกิจอย่างรอบด้านดังนั้นการได้รับการส่งเสริมและยกระดับในทุกมิติจะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน