แยกให้ออก! ‘บอส-พรีเซ็นเตอร์-เจ้าของธุรกิจ’ ต่างกันยังไง?

2024-10-15     HaiPress

แยกให้ออก! ‘บอส-พรีเซ็นเตอร์-เจ้าของธุรกิจ’ บทบาท หน้าที่ ต่างกันยังไง?

ช่วงนี้ข่าวดราม่าเรื่อง“ดารา”รับรีวิวสินค้า เป็นพรีเซ็นเตอร์ และกระทั่งเป็น“บอส”เป็นเจ้าของธุรกิจต่างๆ กระฉ่อนตามสื่อแทบทุกวัน

หลายคนคงอาจไม่รู้ว่า การรับงานเหล่านี้ของ ดารา จะมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราจะต้อง“แยกให้ออก”ว่า

การรีวิวสินค้า

เป็นลักษณะของการอัดเป็นคลิปหรือการไลฟ์สด ให้ดารามาพูดคุยถึงคุณสมบัติข้อดีของสินค้า หรือสาธิตวิธีการใช้งาน เช่น การทาหรือกินโชว์ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดูน่าสนใจ น่าเชื่อถือกว่า คนจะดูเยอะมาก ซึ่งรูปแบบนี้จะมีการทำแบบง่ายก็คือ ตั้งมือถือไว้แล้วถ่ายเองพูดเอง แต่สำหรับบางคนอาจมีโปรดักชั่น มีภาพอื่นประกอบมีการตัดต่อ

Ambassador

จะเป็นกึ่งเหมือนเป็นพรีเซ็นเตอร์ คือการเชิญคนดังหรือดาราคนนั้นมาใช้สินค้าหรือสวมใส่สินค้าเข้างาน หรือมีการรีวิวและโพสต์ภาพในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่มีความแตกต่างจากการเป็นพรีเซ็นเตอร์ระยะสั้น เพราะตัวดาราก็ต้องให้เกียรติสินค้าตัวนั้น ที่ไม่สามารถรับแบรนด์อื่นในช่วงเวลานั้นได้ 

โดยที่บางสินค้าไม่ยอมรับความจริง ไม่อยากจะใช้ศัพท์ให้ดูเป็นตลาดทั่วไป หรืออยากให้เรียกให้ดูหรูขึ้น ส่วนมากการเรียกรูปแบบนี้จะใช้กับนักกีฬาหรือไฮโซ อาจจะมีเงินค่าจ้างเฉพาะงาน

พรีเซ็นเตอร์

รูปแบบนี้จะเป็นรูปแบบมาตรฐานทั่วไปของการว่าจ้างคนดังหรือดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ประจำสินค้า รูปแบบของการว่าจ้างจะมีความหลากหลาย และมีรายละเอียดที่ถูกกำหนดว่าการว่าจ้างนั้นมีระยะเวลาเท่าไหร่ เป็นรายปีหรือรายเดือน และในช่วงระยะเวลานั้น จะมีการโชว์ตัวกี่ครั้ง ถ่ายโฆษณากี่ครั้ง ถ่ายภาพนิ่งกี่ครั้ง แต่ละครั้งมีค่าว่าจ้างอื่นหรือค่าช่างแต่งหน้าแต่งตัวเพิ่มเติมหรือไม่ 

รวมทั้งข้อจำกัดอื่นๆ เช่น พรีเซ็นเตอร์ไม่สามารถรีวิวหรือโฆษณาให้กับสินค้าประเภทเดียวกัน บางสัญญากำหนดไปถึงห้ามโฆษณาให้กับบริษัทอื่นที่ขายของโดยใช้ตัวแทนหรือขายตรงเหมือนกัน บางสัญญากำหนดไว้ว่าต้องเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าเพียงยี่ห้อเดียว นั่นหมายถึงต้องรวมทุกสินค้าที่อยู่ในยี่ห้อนั้น

บอส

รูปแบบนี้คือการจ้างดารามาเป็นออกหน้าเหมือนกับเป็นเจ้าของสินค้า แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้ลงทุนหลัก และตัวดาราเองก็จะได้เงินค่าพรีเซ็นเตอร์รวมทั้งเปอร์เซ็นต์ยอดขาย ซึ่งตัวดาราเองจะได้เงินก้อนใหญ่ และจะได้เงินจากยอดขาย แถมยังได้หน้าว่าเป็นเจ้าของสินค้า ซึ่งจะดูดีกว่าการเป็นพรีเซ็นเตอร์อีกระดับหนึ่ง 

นั่นหมายถึงความรับผิดชอบในการโฆษณาและการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสินค้า ซึ่งสินค้าประเภทนี้มักจะเป็นสินค้าประเภทขายตรงหรือไม่ก็มีตัวแทนขาย เพราะการมีดารานำทีมจะสร้างแรงจูงใจในการทำงานและในการขายของมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่รู้จัก

แต่ข้อเสียสำหรับตัวดารา ก็คือการตรวจสอบยอดขาย ซึ่งยากมาก ถ้าดาราไม่ได้เข้าไปอยู่ข้างในบริษัท จะไม่รู้เลยว่าเขาขายได้มากน้อยแค่ไหน เพราะยอดขายที่โฆษณาว่าขายได้กี่ล้านกล่อง กี่ล้านซอง มันคือคำโฆษณาเพื่อให้ดูว่าสินค้าขายดี โดยในความเป็นจริงแล้ว ทางบริษัทก็จะบอกตัวดาราว่า มันคือยอดขายที่ไว้โฆษณา แต่ในความเป็นจริงสินค้ายังอยู่ในสต๊อกหรืออยู่ที่ตัวแทนแต่ยังไม่ได้ขายออกไปที่ลูกค้าจริงๆ 

ซึ่งนั่นก็หมายถึงเงินที่เราได้จะได้ที่เท่าไหร่ ไม่แน่ชัด และสินค้าก็ไปค้างอยู่ที่ตัวแทนขายไม่ได้อยู่ที่ลูกค้าอย่างแท้จริง

เจ้าของสินค้า

สมัยนี้ก็มีดาราที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการ เปิดบริษัท ผลิตและขายสินค้าเองจริงๆ เยอะแยะ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องสำอาง ซึ่งก็จะต้องใช้เงินลงทุน ดำเนินธุรกิจทุกอย่างด้วยตนเอง มีการจดทะเบียนบริษัท ตั้งตนเองขึ้นเป็นผู้บริหาร

ที่มา : บทความ บุ๋ม-ปนัดดา ปี 2562

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา