10-29
เอาแล้ว! คลัง ถก ก.พ.-สำนักงบฯ รื้อระบบสวัสดิการ เงินเดือน ข้าราชการทั้งระบบ
2024-09-25 HaiPress
บัญชีกลาง ถก ก.พ. สำนักงบ รื้อระบบสวัสดิการ เงินเดือน ค่าหมอ ข้าราชการทั้งระบบ ห่วงค่าใช้จ่ายพุ่ง โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลเฉียดแสนล้าน
นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการปฏิรูป เงินเดือนและสวัสดิการในภาครัฐทั้งหมด เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายในรายการดังกล่าว ใช้งบประมาณที่สูงมาก ดังนั้นต้องมาดูฐานะการคลัง และภาระการคลังในระยะยาวของรัฐบาลประกอบด้วย เฉพาะงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ยังไม่รวมงบด้านบำเหน็จบำนาญข้าราชการอีก
ทั้งนี้ งบเหล่านี้นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคนอายุยืนขึ้น ขณะเดียวกันมีโรคเกิดใหม่มากขึ้น และยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ ก็แพงขึ้น ซึ่งกรมบัญชีกลาง จะต้องเข้าไปดูว่า สามารถต่อรองเรื่องราคาได้หรือไม่ หรือสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
นางแพตริเซีย กล่าวว่า กรมต้องมาดูกระบวนการรายจ่ายของข้าราชการทั้งหมด ตั้งแต่การเข้ารับราชการ เงินเดือน และสวัสดิการทุกอย่าง ซึ่งกรมบัญชีกลางได้คุยหารือกับสำนักงบประมาณ และ ก.พ. อยู่ว่า กระบวนการทั้งหมดในระยะยาว การเข้ารับราชการควรจะเป็นอย่างไร สำหรับการรับข้าราชการบรรจุใหม่ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่มีหลายทางเลือก เช่น เงินเดือนสามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ หรือ ผลตอบแทนคล้ายกับเอกชน หรือเงินเดือนยังจะให้เหมือนเดิมอย่างในปัจจุบัน โดยกำลังบูรณาการทั้งหมดอยู่ แต่ขอให้ตกผลึกก่อนว่าจะเลือกแบบไหน
สำหรับรายจ่ายเงินเดือน เงินสมทบ และค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ในปีงบประมาณ 66 มีจำนวนรวมอยู่ที่ 8.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.78% จากปีงบประมาณก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วน 25.69% ของงบประมาณรายจ่ายโดย เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลไม่มีการปรับฐานเงินเดือนในช่วงดังกล่าว ในขณะที่จำนวนข้าราชการมีแนวโน้ม ขยายตัวเพียงเล็กน้อย โดยในปีงบประมาณ 65 ข้าราชการมีจำนวนทั้งสิ้น 1.51 ล้านตำแหน่ง เพิ่มขึ้น 0.21% จากปีงบประมาณก่อนหน้า
ส่วน รายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐทุกด้านในปีงบประมาณ 66 มีรวมอยู่ที่ 5.14 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.61% จากปีงบประมาณก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 16.15% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเฉพาะส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการสำหรับประชาชน ในปีงบประมาณ 66 มีจำนวนรวมอยู่ที่ 3.98 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้าที่ 7.42%คิดเป็นสัดส่วน 12.50% ของงบประมาณรายจ่าย เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา แต่มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นในอนาคต ตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของประเทศไทย