‘เอกนัฏ’เซ็นตั้งกุนซือแก้ก.ม.ปฏิรูปอุตฯ เร่งปราบขบวนทิ้งกากมั่วซั่ว สั่งเพิ่มโทษ-ค่าปรับ

2024-09-19     HaiPress

“เอกนัฏ”เซ็นตั้งกุนซือแก้ก.ม.ปฏิรูปอุตฯ เร่งปราบขบวนทิ้งกากมั่วซั่ว สั่งเพิ่มโทษ-ค่าปรับให้หลาบจำ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมอบเกียรติบัตรขอบคุณผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในการบรรเทาสารเคมีรั่วไหลที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและระยอง ผ่านกิจกรรม “อุตสาหกรรมรวมใจ” ว่า ได้ลงนามแต่งตั้งกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม มีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วยข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงการคลัง รวมกรรมการ 11 คน เพื่อปรับปรุงกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้ง 14 ฉบับให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ที่จะมีเงินสมทบหลักจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ที่กระทำความผิด เพื่อรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันจะนำเงินกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้แข่งขันได้

“กรอบเวลาจะดำเนินการให้เร็วที่สุด อยากให้เสร็จวันนี้พรุ่งนี้ แต่ก็ต้องให้คณะกรรมการได้มีเวลาทำงาน ผมจะติดตามความคืบหน้าทุกวัน ถ้าทำได้เร็ว จะเหมือนเป็นการติดอาวุธปืนใหญ่ให้กับข้าราชการ แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะมีอาวุธเอาไปรังแกผู้ประกอบการที่ดี แต่จะเอาไปจัดการผู้ประกอบการที่ทำผิด เพราะทุกวันนี้เป็นกฎหมายที่ใช้มาแล้ว 20-30 ปี อำนาจหน้าที่ยังไม่เข้มข้นเพียงพอ เบื้องต้นกฎหมายกรมโรงงานที่อยู่ระหว่างปรับปรุง มีประเด็นการเพิ่มโทษ เพิ่มค่าปรับไปสู่ระดับเหมาะสม ไม่ใช่หลักแสนบาทอย่างในปัจจุบัน กฎหมายนี้ก็จะนำมาพิจารณาภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ด้วย ยืนยันไม่เพิ่มภาระผู้ประกอบการที่ทำดี แต่จะเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการที่ทำผิด ให้เกรงใจกฎหมาย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อม”

ทั้งนี้ยืนยันเป้าหมายการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมและการจัดการกากพิษที่ไม่ถูกต้องให้หมดไป โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งสแกนพื้นที่เสี่ยงมีการลักลอบทิ้งกากทั้งหมดเพื่อป้องกันและเอาผิดผู้กระทำผิด ไม่ต้องเกรงใจผู้มีอิทธิพลใดๆ ส่วนกรณีปัญหาลักลอบทิ้งใน จ.ระยอง จะเร่งของบกลางเพื่อเข้าแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เป็นสาเหตุที่ต้องปรับปรุงกฎหมาย เพราะเมื่อเกิดปัญหากระทรวงไม่มีวงเงินเข้าจัดการ การตั้งกองทุนจึงจำเป็น เพื่อไม่ต้องรบกวนงบกลางเข้าแก้ไข

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา