11-23
‘แบงก์ชาติ’ เปิดสาเหตุ ‘เงินบาทแข็งค่า’ มี 3 ปัจจัยภายนอก ย้ำดูแลใกล้ชิด
2024-09-13 HaiPress
แบงก์ชาติ เปิดสาเหตุ ค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวน เกิดจากอะไร มี 3 ปัจจัยสำคัญในต่างประเทศ มีผลต่อการเคลื่อนไหว ย้ำติดตามดูแลใกล้ชิด ไม่ให้เกิดผลกระทบ
วันที่ 13 ก.ย. น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ ยอมรับว่า ค่าเงินบาทผันผวนสูง โดย ธปท. ติดตามใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ผันผวนสูงจนส่งผลต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจ แต่ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่ผ่านมา ดูแลตัวเองได้ดี ใช้เครื่องมือในการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่า สาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจในสหรัฐ ทั้งนี้ ตลาดการเงินและนักลงทุนได้เฝ้าติดตามผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง รวมถึงราคาทองคำที่พุ่งสูงทำสถิติสูงสุดใหม่ ทำให้มีผลต่อค่าเงินบาท
“ยอมรับว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนบ้าง โดย ธปท. ติดตามใกล้ชิด และพอมีปัจจัยที่เปลี่ยนเยอะและเปลี่ยนบ่อย ด้วยข้อมูลที่เปลี่ยน แต่ถ้าอธิบายด้วยปัจจัยพื้นฐานได้ ก็โอเค ซึ่งสิ่งที่ ธปท. พยายามเข้าไปดูถ้าเคลื่อนไหวผันผวนและไม่มีปัจจัยอะไรมาอธิบายได้ ที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมาจากตัวเลขการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่จะออกมาว่าจะลด 0.25% หรือ 0.50% ทำให้เกิดความผันผวน เพราะตอนนี้ตลาดรอการประชุมเฟด อาจทำให้คนให้น้ำหนักเยอะ แต่ ธปท. จะติดตามใกล้ชิด”
ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มาจากปัจจัยภายในประเทศด้วยหรือไม่นั้น ยอมรับว่าเห็นเงินไหลเข้ามาประเทศไทยบ้าง แต่ทั้งนี้หากดูตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยยังเป็นไหลออกสุทธิอยู่
น.ส.ชญาวดี กล่าวถึงโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการแจกเงินมาเป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง มองว่าจะต้องรอดูข้อมูลและรายละเอียดอย่างเป็นทางการออกมาก่อน โดยจะมีการนำข้อมูลไปประเมินผลต่อเศรษฐกิจอีกครั้ง ทั้งในเรื่องเงื่อนไข และจะแจกกลุ่มไหนบ้าง แจกเท่าไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทวันนี้ 13 ก.ย. เปิดตลาดแข็งค่าทำสถิติสูงสุดในรอบ 19 เดือน แตะระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์ จากราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ และยังติดตามผลการประชุมเฟดในเดือน ก.ย. นี้ ที่จะพิจารณาดอกเบี้ยสหรัฐ เป็นต้น