จี้รัฐเจาะไส้ในตัวเลขเปิด-ปิดโรงงาน ชี้ที่เจ๊งเอสเอ็มอีทั้งนั้น เร่งกู้ชีพ 4 ข้อด่วนก่อนยิ่งตายเรียบ

2024-08-13     HaiPress

เอกชนจี้รัฐอย่ามองตัวเลขเปิด-ปิดโรงงานแค่เปิดมากกว่าปิด ขอเจาะดูไส้ในตัวเลขให้ละเอียด ชี้ตัวเลขโรงงานปิดเจ๊งส่วนใหญ่เอสเอ็มอีทั้งนั้น ขณะที่โรงงานเปิดส่วนใหญ่มีแต่รายใหญ่ๆ เร่งรัฐกู้วิกฤติเอสเอ็มอี ปล่อยกู้ตัวจริงที่มีปัญหา ลดต้นทุนค่าไฟ–โลจิสติกส์ถูก ป้องกันต่างชาติทุ่มตลาด ก่อนตายเรียบหนักกว่าเดิม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถิติตัวเลขกรมโรงงานอุตสาหกรรม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 67) มีโรงงานเลิกประกอบกิจการ 667 แห่ง และมีโรงงานเปิดใหม่ แจ้งประกอบกิจการแล้ว 1,260 แห่ง คิดเป็นอัตราส่วนการเลิกประกอบกิจการ 54% ว่า อยากให้ภาครัฐพิจารณาไส้ในของตัวเลขที่เปิด และปิดโรงงานเป็นหลัก แม้ว่าตัวเลขเปิดโรงงานจะสูงกว่าตัวเลขปิดโรงงานก็ตาม เนื่องจากโรงงานที่ปิดส่วนใหญ่ มีมูลค่าเฉลี่ยแต่ละโรงงาน 20 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขณะที่โรงงานที่เปิดส่วนใหญ่ มีมูลค่าเฉลี่ยแต่ละโรงงาน 170 ล้านบาท เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุนเข้ามา     

“โรงงานที่เปิดส่วนใหญ่ เป็นโรงงานขนาดใหญ่ ที่บีโอไอ และรัฐบาลเดินสายดึงเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะไทยต้องการเม็ดเงินลงทุน เราไม่ได้เถียงว่าตัวเลขเปิดเยอะกว่าปิด แต่สิ่งที่ต้องการสื่อสาร คือ ไม่ได้อยากให้มองแค่ตัวเลขเปิดโรงงานสูงกว่าปิดเท่านั้น มองแค่นี้ไม่ได้ เพราะถ้าตัวเลขปิดโรงงานสูงกว่าเปิดโรงงาน ก็เท่ากับประเทศเจ๊งแล้ว ตอนนี้สถานการณ์ปิดโรงงานเอสเอ็มอี เริ่มมีอัตราสูงมากขึ้น อยากให้รัฐเร่งเข้ามาช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นเราจะตายเรียบ อุตฯใหม่ๆ ที่เข้ามาเปิดโรงงาน บางส่วนทางเอสเอ็มอีก็ยังตามไม่ทัน ทุกภาคส่วนต้องเร่งให้เอสเอ็มอีตามให้ทัน ให้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนในอุตฯใหม่ๆ ให้ได้ด้วย”

สำหรับข้อเสนอแนะเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ ยังเป็นข้อเสนอเดิมๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ คือ

1.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงได้จริง

2.ต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ เช่น ค่าไฟถูก ค่าโลจิสติกส์ถูก

3.หาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มาถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อลดต้นทุน

4.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการป้องกันการทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ

ส่วนมาตรการของ ส.อ.ท.ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาระดับหนึ่ง ถือเป็นมาตรการระยะกลาง เป็น 4 มาตรการสำคัญ คือ

1.โก ดิจิทัล ล่าสุด ส.อ.ท.มีแพ็กเกจโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยกระดับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เช่น โปรแกรมด้านการผลิต ด้านการบัญชี และด้านการควบคุมต่างๆ ที่ช่วยลดต้นทุน  

2.โก อินโนเวชั่น เป็นเอสเอ็มอี  จิ๋วแต่แจ๋ว ด้วยนวัตกรรม คล้ายกับเอสเอ็มอีของไต้หวันและอิสราเอล 

3.โก โกลบอลผลักดันเอสเอ็มอีให้สามารถผลิตและขายสินค้าไปต่างประเทศได้ในมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ

4.โก กรีนผลักดันให้เอสเอ็มอี ผลิตสินค้า และมีกระบวนการทั้งหมดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรีน คือ สินค้าที่ทั้งโลกต้องการ และขยายตัวต่อเนื่อง หากไม่ปรับตัวจะตกขบวนได้

กรมโรงงานแจงตัวเลขเปิดโรงงานยังสูงกว่าปิดโรงงาน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ก.ค. 67 พบว่า มีโรงงานเลิกประกอบกิจการ จำนวน 667 โรง และมีโรงงานเปิดใหม่ แจ้งประกอบกิจการแล้ว 1,260 โรง คิดเป็นอัตราส่วนการเลิกประกอบกิจการ 54% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ที่มีสถิติการปิดโรงงาน เฉลี่ยปีละ 1,254 โรง ขณะที่มีการเปิดโรงงานใหม่ เฉลี่ยปีละ 2,360 โรง คิดเป็นอัตราส่วนเฉลี่ย 53% หากคิดรายปีพบว่า ตั้งแต่ปี 62 อัตราส่วนการเลิกประกอบกิจการ 69% ปี 63 เฉลี่ย 36% ปี 64 เฉลี่ย 28% ปี 65 เฉลี่ย 52% และปี 66 เฉลี่ย 84%


“เมื่อหักลบโรงงานที่ปิดตัวลง ใน7เดือนของปีนี้ จากยอดโรงงานใหม่ มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น167,691ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น25,663คน”

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา