01-06
ร้อนแล้งจัด! ทุเรียนไทย 2567 ผลผลิตลดลงมากสุดในรอบ 15 ปี
2024-06-17 HaiPress
วิเคราะห์สถานการณ์ทุเรียนไทย 2567 ผลผลิตลดลง 18% มากที่สุดในรอบ 15 ปี จากความร้อน ภัยแล้ง สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้วิเคราะห์สถานการณ์ทุเรียนไทย 2567 โดยทุเรียนอยู่ในช่วง เม.ย.-ส.ค. ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากราว 86% ของผลผลิตทุเรียนทั้งปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้รวมกว่า 95% ของผลผลิตทุเรียนทั้งประเทศ
วิเคราะห์ทุเรียนภาคตะวันออก อาจมีผลผลิตทุเรียนในฤดูลดลง 14%
เริ่มจากทุเรียนในฤดูภาคตะวันออกที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ เม.ย. ได้เผชิญความร้อนแล้งจากเอลนีโญรุนแรงในช่วงราว 4 เดือนแรกของปี ทำให้ต้นทุเรียนได้รับน้ำฝนในปริมาณที่น้อยลงกว่าปีก่อนโดยเฉพาะใน เม.ย. ที่น้ำฝนน้อยลงอย่างมาก ส่งผลต่อการติดดอกออกผลที่ลดลง/ผลมีน้ำหนักเบา
อย่างไรก็ดี แม้จะมีปริมาณฝนมากขึ้นตั้งแต่ พ.ค. ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่อาจช่วยบรรเทาความเสียหายในระยะเก็บเกี่ยวได้ แต่โดยรวมแล้วทั้งฤดูทุเรียนภาคตะวันออกปี 2567 คาดผลผลิตจะลดลง 14% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 0.65 ล้านตัน
วิเคราะห์ทุเรียนภาคใต้ อาจมีผลผลิตทุเรียนในฤดูลดลง 25%
มองต่อไปในทุเรียนภาคใต้ที่จะออกสู่ตลาดตามมาตั้งแต่ มิ.ย. ก็มีแนวโน้มว่าผลผลิตจะเสียหายมากขึ้นอีกจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากต้องเผชิญปริมาณฝนที่ลดลงจากปีก่อนตลอดช่วงการเจริญเติบโตของทุเรียนตั้งแต่ระยะติดดอกออกผล และยังถูกซ้ำเติมด้วยฝนทิ้งช่วงใน ก.ค. ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเป็นระยะเก็บเกี่ยวอีกด้วย
ทำให้โดยรวมแล้วทั้งฤดูทุเรียนภาคใต้ปี 2567 อาจมีผลผลิตลดลงแรงถึง 25% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 0.31 ล้านตัน
ผลผลิตทุเรียนรวมในฤดูปี 2567 (2 ภาค คือ ภาคตะวันออก และภาคใต้) อาจลดลง 18% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวมราว 0.96 ล้านตัน นับเป็นผลผลิตทุเรียนที่ลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี
ภาพรวมรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฤดูปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นได้เพียง 0.3% จากผลผลิตรวมที่ลดลง 18% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาเฉลี่ยปรับสูงขึ้น 22% แบ่งเป็นรายได้เกษตรกรภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 4% และรายได้เกษตรกรภาคใต้ลดลง 8%
ทั้งนี้ เป็นรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่ยังไม่หักต้นทุนการผลิต โดยมีต้นทุนการผลิตที่สำคัญในการจัดหาน้ำช่วงเอลนีโญ เช่น ต้นทุนการซื้อน้ำมารดต้นทุเรียน เครื่องปั๊มน้ำ/เครื่องสูบน้ำ/สปริงเกลอร์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งหากนับรวมต้นทุนการผลิตด้วย ก็จะทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิของผู้ปลูกทุเรียนเผชิญแรงกดดันมากยิ่งขึ้น